ฎีกาภาษี โลกไม่ลืม
ขายที่ดินได้เงิน 3.5 ล้าน แต่ต้องเสียภาษีเงินได้ 4.23 ล้านบาท
คดีภาษีแรก(เท่าที่ผู้เขียนทราบ)ที่ศาลงดเงินเพิ่ม และสรรพากรไม่เก็บเบี้ยปรับ
โจทก์ขายที่ดินให้พี่ชายร่วมบิดามารดาในราคา 3.5 ล้านบาท เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งราคาประเมินทุนทรัพย์ตารางวาละ 4,000 บาท และเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ภาษีเงินได้ อากรแสตมป์จากราคาประเมิน 3.15 ล้านบาท ต่อมากรมที่ดินแจ้งว่า ราคาประเมินที่ถูกต้องคือตารางวาละ 45,000 บาท คิดเป็นราคาประเมิน 35.49 ล้านบาท เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งราคาประเมินต่ำและคำนวณภาษีขาดไปมหาศาล ใครต้องรับผิดชอบ ศาลงดเงินเพิ่มได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5450/2561 เรื่องราวมีดังนี้
◾️ 28 เมษายน 2548 โจทก์จดทะเบียนขายที่ดิน(ระหว่างสัญญาเช่า) ให้ พันตรี ส. พี่ชายร่วมบิดามารดาในราคา 3.500,000 บาท เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินตารางวาละ 4,000 บาท คิดเป็นราคาประเมินทุนทรัพย์ 3,154,800 บาท และเรียกเก็บค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย 122,740 บาท ค่าอากรแสตมป์ 17,505 บาท ค่าธรรมเนียม 63,096 บาท รวม 203,341 บาท
◾️ สำนักงานที่ดินฯ ตรวจสอบพบว่า กรมธนารักษ์แจ้งยกเลิกราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินแปลงที่โจทก์ขายและประกาศราคาใหม่เป็นตารางวาละ 45,000 บาท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2548 เป็นต้นไป ทำให้ราคาประเมินที่ถูกต้องคือ 35,492,500 บาท
◾️ 17 มิถุนายน 2548 สำนักงานที่ดินแจ้งเรียกเก็บค่าภาษีเงินได้เพิ่ม 4,115,984.98 บาท อากรแสตมป์เพิ่ม 159,958 บาท และค่าธรรมเนียมเพิ่ม 646,734 บาท
◾️ 28 มิถุนายน 2548 โจทก์อุทธรณ์ไปยังกรมที่ดินว่าการแก้ไขราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินจากตารางวาละ 4,000 บาทเป็น 45,000 บาทไม่ใช่ความผิดของผู้ซื้อและผู้ขาย โจทก์ไม่มีเงินชำระค่าภาษีอากรค่าธรรมเนียมเพิ่ม ขอเสียตามเดิม มิฉะนั้นก็ให้เพิกถอนการขายที่ดินของโจทก์ และขอคืนค่าภาษีและค่าธรรมเนียม
◾️ 10 มีนาคม 2549 กรมที่ดินยืนยันการจดทะเบียนขายที่ดินชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุเพิกถอน ให้โจทก์และพันตรี ส. ชำระภาษีเงินได้ อากรแสตมป์และค่าธรรมเนียมเพิ่ม
◾️ โจทก์และพันตรี ส.ฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครกับพวกต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมขายที่ดิน และเพิกถอนคำสั่งเก็บภาษีเงินได้ อากรแสตมป์ และค่าธรรมเนียมเพิ่ม
◾️ ศาลปกครองกลางพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายที่ดินและเพิกถอนหนังสือเรียกให้เก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม
◾️ ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาแก้เป็นไม่เพิกถอนการจดทะเบียนขายที่ดิน
◾️ โจทก์ฟ้องศาลแพ่ง ขอให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาขายที่ดิน ศาลยกฟ้อง
◾️ โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ศาลพิพากษายืน (ยกฟ้อง)
◾️ โจทก์ฎีกา คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา
◾️ 5 พฤศจิกายน 2557 เจ้าพนักงานประเมิน กรมสรรพากรแจ้งให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้เพิ่ม 4,115,984.98 บาท เงินเพิ่ม 4,115,984.98 บาท รวม 8,231,969.96 บาท โดยไม่เรียกเก็บเบี้ยปรับ
◾️ ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้และเงินเพิ่ม รวม 8,231,969.96 บาท
ศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์ชำระค่าภาษี 4,115,98 บาท แต่งดเงินเพิ่มให้ทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากเหตุที่ชำระภาษีไม่ครบถ้วนไม่ใด้เกิดจากความผิดของโจทก์ กรณีจึงมีเหตุงดเงินเพิ่มแก่โจทก์
ในการขายอสังหาริมทรัพย์ กฎหมายกำหนดให้ผู้ซื้อมีหน้าที่หักภาษีเงินได้และนำส่งเจ้าพนักงานที่ดินผู้จัดเก็บภาษีแทนกรมสรรพากร แต่ในทางปฏิบัติประชาชนทั่วไปย่อมไม่ทราบวิธีคำนวณภาษีที่สลับซับซ้อนนี้ เจ้าพนักงานที่ดินเป็นผู้คำนวณภาษีให้ แต่ในทางกฎหมายถือว่าเจ้าพนักงานที่ดินเพียงอำนวยความสะดวก ผู้จ่ายเงินยังคงมีความรับผิดชอบในหักภาษีเงินได้และนำส่งให้ครบถ้วน ปัญหาในคดีนี้ก็คือ เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งราคาประเมินทุนทรัพย์ต่ำกว่าราคาประเมินที่ถูกต้องอย่างมาก ซึ่งหากผู้เสียภาษีทราบว่าต้องเสียภาษีอากรในการโอนสูงกว่าราคาขาย ย่อมไม่เกิดการขายขึ้นอย่างแน่นอน
ในคดีนี้ ผู้เสียภาษีต่อสู้ว่า ควรเสียภาษีจากเงินที่ได้รับจากการขายที่ดินจริงคือ 3.5 ล้าน ซึ่งเป็นข้อกฎหมายตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรไม่ใช่เสียจากราคาประเมินทุนทรัพย์ 35.49 ล้านตามการประเมิน ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 49 ทวิ บัญญัติให้การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลธรรมดาใช้ราคาประเมินเป็นราคาขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในการใช้กฎหมาย มาตรา 39 เป็นบททั่วไป ส่วนมาตรา 49 ทวิเป็นบทเฉพาะ ต้องใช้ตามบทเฉพาะตามที่ศาลตัดสิน
สำหรับประเด็น ศาลมีอำนาจงดหรือลดเงินเพิ่มได้หรือไม่นั้น ในคดีนี้ ตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง เห็นว่า “เงินเพิ่มเป็นบทบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายเช่นเดียวกับเบี้ยปรับ แต่เป็นกรณีบังคับแก่ผู้ไม่เสียหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลา เป็นค่าขาดประโยชน์ที่รัฐต้องเสียไป เมื่อไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามไว้ เรื่องการงดหรือลดเงินเพิ่ม ทั้งเป็นกรณีที่ศาลอาจใช้ดุลพินิจให้เป็นคุณประโยชน์แก่ประชาชนที่ให้ความร่วมมือกับรัฐในการตรวจสอบและเสียภาษีหรือการกระทำการใดที่ศาลเห็นว่ามีเหตุอันสมควร ศาลอาจใช้ดุลพินิจงดหรือลดเงินเพิ่มได้” แต่ศาลภาษีอากรกลางมิได้งดเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ เนื่องจากเจ้าพนักงานประเมินของกรมสรรพากรไม่ได้เรียกเก็บเบี้ยปรับจากโจทก์ แต่อย่างใด ศาลเห็นว่าเป็นคุณแก่โจทก์มากแล้ว จึงยังไม่มีเหตุอันควรงดหรือลดเงินเพิ่มให้โจทก์อีก
แต่ในส่วนของศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์ชำระภาษี แต่งดเงินเพิ่มให้ทั้งหมด โดยมีความเห็นว่า “เหตุที่ชำระภาษีไม่ครบถ้วนไม่ใด้เกิดจากความผิดของโจทก์ จึงมีเหตุงดเงินเพิ่ม”
ตั้งแต่การใช้บทบัญญัติเงินเพิ่มตามมาตรา 27 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2528 เป็นต้นมา ผู้เขียนยังไม่เคยพบคดีภาษีสรรพากรที่ศาลพิพากษางดเงินเพิ่ม ตามแนวคำพิพากษาก่อนหน้านี้ ศาลและกรมสรรพากรมีแนวคิดสองคล้องกันว่า เงินเพิ่มงดไม่ได้เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจลดแก่ศาล แต่ตามคำพิพากษาคดีนี้ มีการตีความว่า กฎหมายก็มิได้ห้ามศาลด้วยเช่นกัน และศาลเห็นว่า เงินเพิ่มก็เป็นบทบัญญัติเช่นเดียวกับเบี้ยปรับ หากมีเหตุอันสมควร ศาลอาจใช้ดุลพินิจงดหรือลดได้
***สำหรับผู้เสียภาษี เพื่อป้องกันการผิดพลาด ผู้ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ห้องชุด สามารถตรวจสอบราคาประเมินได้ที่ เว็บไซต์กรมธนารักษ์ http://property.treasury.go.th/pvmwebsite/
สัมมนานักบัญชีดอทคอม เกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
2-3 ตุลาคม 2562 ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กับการทำบัญชี รุ่น 4
โบว์ชัวร์ https://bit.ly/320daCc
จองออนไลน์ https://bit.ly/2FDy2Wi